
เปตองเป็นกีฬาที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อครั้งยังมีพระชนม์ชีพอยู่นั้น ทรงโปรดมาก พระองค์ทรงพระราชทานกีฬาเปตองให้แก่ พสกนิกรชาวไทยไว้เพื่อให้ออกกำลังกาย และแข่งขัน พระองค์ทรงเล็งเห็นว่าเปตองเป็นกีฬาที่ดี มีประโยชน์ เล่นง่าย และค่าใช้จ่ายน้อย เป็นกีฬาที่เหมาะสมสำหรับคนไทยเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์กลับประเทศไทย พระองค์ได้ออกเยี่ยมเยียนราษฎรในแหล่งทุรกันดารต่าง ๆ ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมุ่งบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ราษฎรเป็นสำคัญ เช่น โครงการ พอ.สว. เมื่อเสร็จจากพระราชกรณียกิจในแต่ละวันก็ทรงประทับพักแรมตามสถานที่เขื่อนต่าง ๆ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และทรงใช้เวลาว่างในการเก็บดอกไม้พันธุ์ต่าง ๆ มาถนอม และประดับบนกระดาษจัดทำเป็นบัตรอวยพรเพื่อพระราชทานแก่ข้าราชการ และประชาชนที่ได้เสียสละร่วมบำเพ็ญพระราชกรณียกิจตามโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ของพระองค์
สำหรับผู้นำเปตองเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย ให้เป็นที่รู้จัก และเป็นทางการคนแรก คือ นายจันทร์ โพยหาญ เมื่อปี พ.ศ. 2518 ต่อมาได้มีคณะรณรงค์เผยแพร่กีฬาเปตอง คือ นายศรีภูมิ สุขเนตร (นักเรียนเก่าฝรั่งเศส) ซึ่งมีความรู้ความสามารถในการเล่นกีฬาเปตอง พร้อมด้วย นายชัยรัตน์ คำนวณ และนายดนัย ตรีทัศถาวร ต่อมาก็ได้รวมกันก่อตั้ง “สหพันธ์เปตองแห่งประเทศไทย” เมื่อวันที 18 มิถุนายน 2519 โดยมี นายศรีภูมิ สุขเนตร เป็นนายกสมาคมคนแรกในการก่อตั้งครั้งนี้
ในปี พ.ศ. 2521 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรที่เขื่อนห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี นายจันทร์ โพยหาญ ผู้ริเริ่มกีฬาเปตองในประเทศไทย ได้นำอุปกรณ์ลูกเปตองไปแนะนำการเล่นให้แก่ข้าราชบริพารใกล้บริเวณที่ประทับ พระองค์ทรงทราบ และรับสั่งว่า “พระองค์เคยเล่นกีฬาประเภทนี้ตั้งแต่มีพระชนม์มายุได้ 30 กว่าพระชันษา กีฬาเปตองมีประโยชน์มากให้ทั้งบริหารร่างกายเพื่อให้มีสุขภาพดี และสร้างสรรค์ความสามัคคีในหมู่คณะ ซึ่งมีประโยชน์มากสำหรับคนไทย ขอให้นายจันทร์ โพยหาญ จงทำหน้าที่ต่อไป พระองค์จะช่วยส่งเสริม และเผยแพร่ให้อีกทางหนึ่ง” และสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์เปตองนานาชาติ (F.I.P.J.P.) ในปี 2519 เป็น อันดับที่ 17 ของโลกและ เป็นประเทศแรกของทวีปเอเซีย ปัจจุบัน มีประเทศต่าง ๆ จากทั่วโลกเข้าเป็นสมาชิกสหพันธ์เปตองนานาชาติ จำนวน 64 ประเทศ
กีฬาเปตองเริ่มเป็นที่รู้จัก และนิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้นตามลำดับทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ทั้งนี้ เพราะพระองค์ทรงช่วยเผยแพร่อย่างต่อเนื่องตามจังหวัดหรือภาคต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎร พระองค์ท่านก็ทรงให้จัดมีการแข่งขันเปตองขึ้น และทุกครั้งที่มีการจัดการแข่งขัน พระองค์ท่านจะทรงร่วมในการแข่งขันทุกครั้ง ฝีพระหัตถ์ของพระองค์ในการทรงเปตองเป็นที่ยอมรับว่าอยู่ในขั้นดีเยี่ยม และทุกครั้งที่ทรงลงทำการแข่งขันมักจะเป็นมือเข้าหรือมือแก้เกมพระองค์ทรงโปรดกีฬาเปตองมาก บางครั้งทรงรับสั่งว่า “เปตองเป็นยาวิเศษสำหรับฉัน” ด้วยเหตุนี้ นักกีฬาเปตองทั่วประเทศไทย จึงให้สมญานามกีฬาเปตองว่า “กีฬาสมเด็จย่า”
ในปี พ.ศ.2522 ทรงเสด็จที่เขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร พระองค์ทรงรับสั่งให้จัดการแข่งขันเปตองชิงชนะเลิศภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้น โดยให้ข้าราชการ ทหาร, ตำรวจ และประชาชนทุกจังหวัดในภาคนั้นเข้าร่วมการแข่งขันแบบประเภททีม 3 คน มีจำนวนทีมแข่งขัน 78 ทีม ซึ่งพระองค์ และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ก็ทรงได้ร่วมลงทำการแข่งขันฯ ด้วย และนับเป็นการแข่งขันกีฬาเปตองครั้งแรกในประเทศไทย รางวัลในการแข่งขันครั้งแรกสำหรับทีมผู้ชนะเลิศเป็นของพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ นั่นคือ ธงซึ่งมีพระปรมาภิไธยย่อ “กว.” กำกับอยู่และได้เริ่มส่งนักกีฬาเปตองทีมชาติไทย ประเภททีมชาย ไปเข้าร่วมการแข่งขันชิงแชมเปี้ยนโลกณ ต่างประเทศ ตั้งแต่ ปี 2523 – จนถึงปัจจุบัน
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงรับสหพันธ์เปตองแห่งประเทศไทย ไว้ในพระราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2527 และได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวนเงิน 1 ล้านบาท ให้กับสหพันธ์เปตองแห่งประเทศไทย สำหรับใช้บริหารกิจกรรมกีฬาเปตองภายในประเทศและ ในปี 2530 ได้เริ่มบรรจุกีฬาเปตองเข้าแข่งขันในกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 21 ณ จังหวัดลพบุรี อีกทั้งได้ดำเนินการแก้ไขข้อบังคับสหพันธ์ฯ โดยเปลี่ยนชื่อจาก “สหพันธ์เปตองแห่งประเทศไทย” เป็น “สมาคมสหพันธ์เปตองแห่งประเทศไทย” เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. ของ การกีฬาแห่งประเทศไทย และดำเนินการขออนุญาตจากการกีฬาแห่งประเทศไทย จัดตั้งสมาคมฯ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2533 ต่อมาได้ดำเนินการขออนุญาตจาก การกีฬาแห่งประเทศไทย ใช้คำว่า “แห่งประเทศไทย” เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2533 และได้บรรจุกีฬาเปตองเข้าแข่งขันในกีฬากองทัพไทย กีฬารัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย, กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย กีฬานักเรียน กรมพลศึกษา – กรมสามัญศึกษา, กีฬาเขตการศึกษาทั่วประเทศกีฬาสถาบันราชภัฎทั่วประเทศ, กีฬาสถาบันราชมงคล, การแข่งขันระดับตำบล – อำเภอ – จังหวัด และ โครงการ “กีฬาเปตองสู่ความเป็นเลิศของประเทศ” และยังได้รับการรับรองจาก การกีฬาแห่งประเทศไทย สนับสนุนงบประมาณ เป็นเงินอุดหนุนสมาคมฯประจำปีจากรัฐบาล ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 1 ล้านบาท
ดำเนินการก่อตั้ง “กองทุนสมเด็จย่าเพื่อพัฒนากีฬาเปตอง” เพื่อสำหรับใช้ผลประโยชน์จากกองทุนฯ ในการพัฒนาส่งเสริมกิจกรรมกีฬาเปตองของประเทศ ให้ก้าวหน้าเข้าสู่มาตรฐานสากล เมื่อปี 2538 และริเริ่มก่อตั้งสหพันธ์เปตองแห่งเอเซีย โดยมีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นสมาชิกในเบื้องต้น จำนวน 8 ประเทศ คือ ประเทศญี่ปุ่น, อิสราเอล, ส.ป.ป.ลาว, กัมพูชา, สิงคโปร์, มาเลเซีย, เวียดนาม และไทย ในปี 2540
ต่อมาในปี พ.ศ. 2541 ได้ มีการแก้ไขข้อบังคับ“ สมาคมสหพันธ์เปตองแห่งประเทศไทย” และทำการเปลี่ยนชื่อจาก “ สมาคมสหพันธ์เปตองแห่งประเทศไทย ” เป็น “ สมาคมเปตองแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ” การดำเนินการของสมาคมฯได้ดำเนินการมาถึง ปี พ.ศ. 2545 สมาคมฯได้ทำยกเลิกข้อบังคับ ฉบับ พ.ศ. 2541 มาใช้ข้อบังฉบับ พ.ศ. 2545 และในปี พ.ศ. 2558 ทางสมาคมเปตองแห่งประเทศไทยฯ ได้ดำเนินการแก้ไขข้อบังคับ เพื่อให้สอดคล้องกับ พระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย และมีการเปลี่ยนชื่อจาก “ สมาคมเปตองแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จ พระศรีนครินทราบรมราชชนนี ” เป็น “ สมาคมกีฬาเปตองแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จ พระศรีนครินทราบรมราชชนนี ” ที่เป็นที่รู้จักกันในปัจจุบัน และได้บรรจุกีฬาเปตองเข้าแข่งขันในกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 14 เมื่อปี 2541 ณ จังหวัดอุดรธานี
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากลัยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงรับเป็นองค์ที่ปรึกษาของสมาคมฯ ตามคำกราบทูลเชิญของสมาคมฯ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2542 ทรงพระราชทานเงินที่ได้รับบริจาคจากหน่วยงาน และคณะบุคคลต่าง ๆ จำนวนเงิน 1,879,185 บาท (หนึ่งล้านแปดแสนเจ็ดหมื่นเก้าพันหนึ่งร้อยแปดสิบห้าบาท) เพื่อสมทบเข้า “ กองทุนสมเด็จย่าเพื่อพัฒนากีฬาเปตอง ”
เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2543 ดำเนินการจัดสร้างพระรูปหล่อ “ สมเด็จย่าทรงเปตอง ” ขนาดความสูง 12 นิ้ว จำนวน 2,000 องค์ เพื่อให้ชมรมสมาชิกของสมาคมฯ และนักกีฬาเปตองทั่วประเทศได้บริจาคเพื่อสักการะบูชา ในปี 2544 และได้ก่อสร้างสนามเปตองตามแบบมาตรฐานสากล 8 สนาม และสนามฝึกยิงลูกเปตอง 2 สนาม พร้อมอาคารอเนกประสงค์ ณ การกีฬาแห่งประเทศไทย โดยใช้งบประมาณดำเนินการ จำนวน 2 ล้านบาท (จากคณะกรรมการโอลิมปิคฯ 3 แสนบาท และจาก “กองทุนสมเด็จย่า” 1 ล้าน 7 แสนบาท) ในปี 2544 และได้ประสานความร่วมมือกับประเทศสมาชิกมนตรีซีเกมส์ ให้บรรจุกีฬาเปตองเข้าแข่งขันในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 21 ในปี พ.ศ. 2544 ณ ประเทศมาเลเซีย เป็นครั้งแรก
สมาคมกีฬาเปตองแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้มุ่งเผยแพร่ ส่งเสริมกิจกรรมกีฬาเปตองให้เป็นที่แพร่หลายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ และแถบทวีปเอเซียอย่างจริงจัง ตามพระราชนปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี องค์พระราชูปถัมภ์ของสมาคมกีฬาเปตองแห่งประเทศไทย ดังปรากฏเป็นผลงานในปัจจุบันนี้
ในปี 2557 สมาคมกีฬาเปตองแห่งประเทศไทยฯ ได้มีการดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ โดยใช้ชื่อว่า “ มูลนิธิเพื่อพัฒนากีฬาเปตอง ” โดยมีวัตถุประสงค์
– เพื่อส่งเสริมกิจกรรมของสมาคมฯ
– เพื่อร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในการส่งเสริมการเล่นกีฬาเปตอง
– เพื่อดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
– ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด
โดยใช้ทุนยื่นจดทะเบียน ณ สำนักงานเขตเป็นเงินจำนวนเริ่มต้น 1,000,000,.- (หนึ่งล้านบาทถ้วน)